วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเพาะพันธุ์

ก. วัสดุเพาะ

ในต่างประเทศนิยมใช้พีตและเวอร์มิคิวไลต์ ส่วนในประเทศไทยมักจะเพาะในดิน แต่มักเกิดปัญหาต้นกล้าเป็นโรค เนื่องจากมีเชื้อโรคตกค้างอยู่ในดิน จึงควรเพาะในวัสดุที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค อีกทั้งไม่เป็นกรดเป็นด่างจัด มีการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศดี ในขณะเดียวกันก็กักเก็บความชื้นได้ดีด้วย ซึ่งจะหาวัสดุที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนได้ยากมาก จากการทดลอง พบว่า ทรายก่อสร้างที่ร่อนเอากรวดหินออกแล้ว ผสมกับขุยมะพร้าวที่ได้จากเส้นใยของกาบมะพร้าวที่ใช้ประโยชน์แล้ว ในอัตราส่วน ๑ : ๑ และ ๑ : ๒ จะเหมาะสำหรับเมล็ดไม้ดอกทั่วๆ ไปที่มีขนาดไม่เล็กนัก หรือเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ หากเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก ดังเช่น เมล็ดบีโกเนีย และพิทูเนีย ควรเพาะในใบก้ามปูหมักที่ร่อนแล้ว ผสมกับทรายในอัตราส่วน ๒ : ๑ แทน

ข. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะ

ควรเพาะในตะกร้าพลาสติกขนาด ๓๐ x ๔๕ เซนติเมตรโดยประมาณ จะสะดวก และปลอดภัยกว่าเพาะลงบนพื้นดินโดยตรง ทั้งนี้เพราะสะดวกในการเตรียมวัสดุและเตรียมการเพาะ อีกทั้งทำการเพาะได้ประณีตกว่า ดูแลได้ทั่วถึง การป้องกันมดแมลง ตลอดจนศัตรูอื่น เช่น จิ้งหรีด ทำได้ง่ายกว่า สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ ตลอดจนแสงได้ตามความเหมาะสม เพราะสามารถย้ายตะกร้าไปมาได้ เมื่อเมล็ดงอกแล้ว สามารถย้ายไปไว้ในที่ที่เหมาะสมได้ง่าย และยังหนีภัยธรรมชาติได้ด้วย แม้จะทำงานขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม เช่น ต้องการเตรียมต้นกล้าเป็นหมื่นเป็นแสนต้น ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะตะกร้าขนาด ๓๐ x ๔๕ เซนติเมตร สามารถเพาะเมล็ดได้ถึง ๕๐๐ - ๒,๐๐๐ เมล็ด ถ้าเมล็ดมีอัตราการงอกร้อยละ ๘๐ จะใช้ตะกร้า ในการเพาะเมล็ดจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ เมล็ด เพื่อให้ได้จำนวนต้น ๑๐๐,๐๐๐ ต้น เพียง ๕๐ - ๒๕๐ ตะกร้าเท่านั้น หากวางตะกร้าบนกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด ๑.๒๐ x ๒.๔๐ ตารางเมตร จะใช้กระเบื้องเพียง ๒ - ๑๒ แผ่น ทั้งนี้เพราะกระเบื้อง ๑ แผ่น รองรับตะกร้าได้ถึง ๒๔ ใบ

ค. วิธีการเพาะ

ให้กรุตะกร้าพลาสติกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ก้นและด้านข้างของตะกร้า แล้วบรรจุวัสดุเพาะที่มีความชื้นพอเหมาะไม่ถึงกับแฉะ ลงไปในตะกร้าอย่างหลวมๆ ให้สูงจากก้นตะกร้าประมาณ ๘ เซนติเมตร เกลี่ยผิวหน้าวัสดุให้เรียบเสมอกันโดยตลอด แล้วใช้สันไม้ หนาประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร กดลงบนวัสดุเพาะเบาๆ เพื่อทำร่องสำหรับหยอดเมล็ด แต่ละร่องห่างกันประมาณ ๒ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ถ้าทำร่องตามทางยาวของตะกร้าจะได้ประมาณ ๑๑ - ๑๒ แถวต่อ ๑ ตะกร้า

การหยอดเมล็ดลงในร่องนั้น หากยังไม่ชำนาญควรฝึกทำก่อน โดยใช้ทรายละเอียดแทนเมล็ดจริง ซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีการทำไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ควรหยอดให้แต่ละเมล็ดกระจายอย่างสม่ำเสมอในแต่ละร่อง กลบร่องด้วยวัสดุเพาะให้เต็ม แล้วใช้แท่งไม้หน้าเรียบลักษณะคล้ายแปลงลบกระดาน ตบบนผิววัสดุเพาะเบาๆ เพื่อให้วัสดุเพาะกระชับกับเมล็ด และทำให้ผิวหน้าวัสดุเรียบ ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ให้พอดีกับตะกร้า ปิดทับลงบนผิวหน้าวัสดุ ให้มิดพอดีๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำชนิดฝอย คะเนให้น้ำซึมลงไปในวัสดุเพาะมากพอ แล้วนำกระบะเพาะไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย จากสัตว์เลี้ยงและแมลงศัตรูพืช อาจวางบนร้าน หรือยกพื้นกลางแดด หลังจากนั้นรดน้ำเช้า - บ่าย วันละ ๒ เวลา เมล็ดส่วนใหญ่จะงอกภายใน ๓ - ๕ วัน ดังนั้นก่อนรดน้ำในตอนเช้าของวันที่ ๔ และ ๕ ควรตรวจสอบความงอก โดยการเปิดกระดาษออกดู ถ้าเมล็ดงอกในปริมาณที่มากพอใกล้เคียงกับอัตราการงอกที่กำหนดไว้ ต้องเปิดกระดาษออกทันที ถ้าวางกระบะเพาะไว้ภายในอาคาร ควรจัดให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดในช่วงเช้า และงดน้ำ ๑ - ๒ วัน เป็นการบังคับให้รากหยั่งลึกลงไปหาน้ำในระดับล่างของวัสดุเพาะ ทำให้รากของต้นกล้าเจริญเติบโตดี มีปริมาณรากมาก และแข็งแรงด้วย แต่ถ้าเป็นการเพาะเมล็ดในที่โล่งแจ้งกลางแดดอยู่แล้ว เมื่อเมล็ดงอกและเปิดกระดาษออกแล้ว ต้นกล้าจะได้รับแสงแดดเต็มที่โดยไม่แสดงอาการเหี่ยวเฉา หากต้นกล้าแสดงอาการเหี่ยว ไม่ควรงดน้ำ

วิธีการเพาะเมล็ดดังที่กล่าวมานี้ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดหากได้ลงมือปฏิบัติ และประสบปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้น วิธีการเพาะที่ดีและเหมาะสมย่อมแตกต่างกันได้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเพาะเมล็ดโดยการทำร่องเป็นแถวๆ แทนการหว่านเมล็ดไปทั่วทั้งตะกร้า จะเป็นการแก้ปัญหาการเน่าของต้นกล้าได้

การเพาะเมล็ดเป็นแถวจะให้ผลดีกว่าการหว่านเมล็ดด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะลดความเสียหาย เนื่องจากโรคโคนเน่าของต้นกล้า ทั้งนี้เพราะมีการถ่ายเทอากาศได้ดีกว่า และถ้าเกิดโรคเน่าขึ้น โอกาสที่จะลุกลามติดต่อกันเองเกิดได้ช้าลง ที่สำคัญคือ สะดวกในการย้ายต้นกล้าออกปลูก โดยสามารถย้ายทีละแถว โดยไม่ทำให้รากของต้นกล้าแถวข้างเคียงกระทบกระเทือน อีกทั้งถ้าไม่สามารถย้ายเสร็จทั้งตะกร้าภายในวันเดียวได้ ก็ไม่ทำให้ต้นกล้าที่เหลือเสียหาย

สรุปได้ว่า การเพาะเมล็ดไม้ดอกจะประสบผลสำเร็จเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการคือ

๑. เมล็ดดี

เมล็ดที่นำมาเพาะจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  • ยังมีชีวิตอยู่
  • ผ่านพ้นระยะพักตัวแล้ว
  • มีความสมบูรณ์ ไม่ลีบ ไม่มีเมล็ดอื่นปะปน
  • มีความงอกสม่ำเสมอ อัตราการงอกสูง
  • รงตามพันธุ์
  • งอกได้เร็ว และเจริญเติบโตดี
  • ปราศจากโรคและแมลง
๒. วัสดุเพาะดี

มีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของวัสดุเพาะ

๓. สภาพแวดล้อมดี

คือ มีความชื้น อุณหภูมิ แสง และอากาศเหมาะสม

๔. วิธีการดี 

ได้กล่าวถึงวิธีการเพาะเมล็ดอย่างละเอียดไว้แล้ว แต่อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดก็ได้ หากลงมือปฏิบัติเอง อาจพบเห็นปัญหามากมายแตกต่างได้อีก โดยวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลย่อมจะแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการที่ดีและเหมาะสมจึงแตกต่างกันไปด้วย

ง. ปัญหาที่มักเกิดขึ้นในการเพาะเมล็ดไม้ดอก

มีดังนี้

๑. เมล็ดงอกน้อย

ทั้งที่เมล็ดมีคุณภาพดี และมีอัตราการงอกสูง สาเหตุอาจเนื่องมาจากวัสดุเพาะมีความชื้นไม่เพียงพอ และไม่สม่ำเสมอทั่วกัน โดยเฉพาะในช่วงวันแรกๆ ที่เริ่มเพาะ จึงแนะนำให้รดน้ำจนชุ่ม โดยรด ๒ - ๓ ครั้งในวันแรกที่เพาะ เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชุ่มชื้นเพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีภายในเมล็ด และทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัวลง จนต้นอ่อนสามารถงอกออกมาได้ หรืออาจเป็นเพราะเมล็ดเหล่านั้นสูญสิ้นความงอก หรือตายไปแล้วก่อนนำมาเพาะ ซึ่งอาจเกิดจากการเก็บรักษาเมล็ดก่อนการเพาะไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางเมล็ดไว้ในรถยนต์ที่ปิดกระจก ในระหว่างไปรับประทานอาหารกลางวันเพียง ๑ - ๒ ชั่วโมง ความร้อนภายในรถยนต์อาจสูงพอที่จะฆ่าเมล็ดเหล่านั้นได้ จึงควรตระหนักในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไว้ด้วย

๒. ต้นกล้ายืด

เนื่องจากต้นกล้าได้รับแสงไม่เพียงพอ เพราะเปิดกระดาษออกช้าหรือสถานที่เพาะเมล็ดได้รับแสงน้อยไป

๓. ต้นกล้าเน่า

สามารถป้องกันได้โดยการเปิดกระดาษออกทันทีหลังจากต้นกล้างอก ให้ได้รับแสงเพียงพอ ต้นกล้าจะไม่ยืด จนล้มในขณะได้รับการรดน้ำ และไม่ควรรดน้ำบ่อยครั้งเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ต้นกล้าบอบช้ำ ซึ่งง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค ควรทิ้งช่วงให้วัสดุเพาะแห้งบ้างพอหมาดๆ แต่อย่าปล่อยให้แห้งจัด จนเกิดรอยแตกแยกของวัสดุเพาะ

๔. ต้นกล้าไม่แกร่ง 

ทำให้เกิดปัญหาการตายของต้นกล้าหลังจากย้ายปลูก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ต้นกล้าได้รับแสงน้อยเกินไป รดน้ำมากไป หรือมีการเร่งปุ๋ยไนโตรเจนเกินความจำเป็น ก่อนการย้ายกล้า ๒ - ๓ วัน ควรรดด้วยน้ำผสมปุ๋ยโพแทสเซียมอย่างเจือจาง จะช่วยให้ต้นกล้าแกร่งขึ้น หรืองดน้ำล่วงหน้าการย้าย ๑ วัน หรือฉีดพ่นด้วยสารชะลอการเจริญเติบโตก่อนการย้ายกล้า ๔ - ๕ วัน จะทำให้ต้นกล้าทนการขาดน้ำ และทนแล้งยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่ทำให้ต้นกล้ายืด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น